วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หนักใจทำไมลูกก้าวร้าว 2



 

หนักใจทำไมลูกก้าวร้าว 2

ลูกติดเพื่อนจนมีนิสัยก้าวร้าว ปัญหานี้ค่อนข้างแก้ยากนิดหน่อยเพราะในแต่ละวันลูกไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลาดังนั้นจะให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดคงทำไม่ได้  เด็กวัยรุ่นต้องการมีเพื่อนและการได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนๆจะทำให้เด็กวัยรุ่นรู้สึกมีอิสระ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำถ้าลูกวัยรุ่นคบอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนก็ถือว่าเป็นโชคดีของคุณพ่อคุณแม่ไป แต่ถ้าลูกวัยรุ่นมีเพื่อนก้าวร้าวจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกมองเห็นผลเสียจากการถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดีของกลุ่มเพื่อนยกเว้นเด็กวัยรุ่นจะประสบกับปัญหาที่แก้ไขเองไม่ได้จริงๆ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างกรณีที่ลูกวัยรุ่นมีเพื่อนก้าวร้าวซึ่งก็เป็นเด็กในชุมชนแถวบ้านของผู้เขียนเอง (เด็กคนนี้ผู้เขียนให้นามสมมุติว่าต้น) ต้นอายุ 13 สอบได้ระดับปานกลางไม่ดีและไม่ขี้เหร่เกินไปนักเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำอำเภอตอนเรียนประถมต้นไม่เคยมีกิริยาก้าวร้าวให้เห็นถึงแม้จะอยู่กับ ตาและยายแต่ต้นก็ปฏิบัติตนดีเสมอมาเพื่อนๆในกลุ่มก็เป็นเพื่อนโรงเรียนประถมที่คุ้นเคยกันมาหลายปีซึ่งก็เป็นเด็กใฝ่เรียนทั้งกลุ่ม พอสอบเข้ามัธยมต่างคนต่างต้องแยกย้ายอยู่กันคนละห้องเพราะสอบได้ห้องต่างกันตามความสามารถเด็กแต่ละคน และกลายเป็นว่าต้นต้องแตกออกมาโดดเดี่ยวคนเดียวในห้องนี้จึงต้องมีเพื่อนใหม่ที่เป็นเพื่อนในห้องเดียวกัน เด็กจากโรงเรียนประถมหลายโรงเรียนดีบ้างก้าวร้าวบ้างปะปนกันมาต้นจึงได้เพื่อนกลุ่มใหม่แต่ที่ต้องเป็นห่วงกันก็คือเพื่อนกลุ่มใหม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว และต้นก็เริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่นดังนั้นเพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนต้นจึงเริ่มก้าวร้าวตามเพื่อนโดยไม่มีคนคอยแนะนำสิ่งที่ดีให้
วันหนึ่งผู้เขียนขับรถผ่านบ้านของต้นและเห็นต้นกำลังวิ่งออกจากบ้านโดยมียายตะโกนดุไม่หยุดพอคุณยายเห็นผู้เขียนจึงร้องบอกผู้เขียนว่า “ครู ช่วยหน่อยเถอะไอ้ต้นมันเอาเงินฉันไป” ผู้เขียนจึงรีบขับรถตามต้นไปจนทันแล้วบอกให้ต้นหยุดคุยกับผู้เขียนก่อน คงเป็นเพราะว่าต้นมีความเกรงใจที่ผู้เขียนเป็นครูจึงหยุดคุยด้วย (แบบนี้ที่เรียกว่าเด็กมักจะกลัวครูมากกว่าพ่อแม่ ) ผู้เขียนซักไซ้ไล่เลียงได้ว่าเพื่อนๆจะพากันไปเที่ยวงานประจำปีต่างอำเภอที่จัดมาหลายวันแล้ว เพื่อนๆไปกันหมดแล้วต้นยังไม่เคยไปเพื่อนๆจึงให้ไปด้วยกันคืนนี้เมื่อต้นบอกว่าไม่มีเงินเพื่อนจึงบอกให้ขอยายถ้ายายไม่ให้ก็ขโมยจะได้ไปเที่ยวด้วยกัน  ด้วยความที่อยากไปเที่ยวและอยากให้เพื่อนๆยอมรับต้นจึงทำตามที่เพื่อนบอกคือขอยายก่อน แต่เนื่องด้วยตากับยายของต้นมีอาชีพหาปลาเก็บผักขายเลี้ยงชีพจึงไม่มีเงินมากพอเพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ต้นได้ไปโรงเรียนทุกวัน ยายจึงไม่ให้เงินกับต้นและห้ามไม่ให้ต้นไปเที่ยวอีกด้วยเพราะว่าเป็นงานที่จัดกันตอนกลางคืนการเดินทางสัญจรค่อนข้างอันตราย เมื่อขอแล้วไม้ได้ต้นจึงใช้วิธีขโมย ฟังจากที่ต้นเล่ามาผู้เขียนเองก็รู้สึกโกรธกับการกระทำของต้น แต่เมื่อมองถึงสาเหตุให้ลึกลงไปก็จะพบว่าการที่ต้นเป็นแบบนี้เนื่องมาจากตากับยายไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนอีกทั้งตัวของต้นเองก็ไม่เคยได้รับโอกาสที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นเพราะฐานะยากจน  ความคิดวิจารณญาณยังไม่มีจึงทำผิดแบบนี้  ผู้เขียนจึงบอกกับให้ต้นเอาเงินไปคืนยายและขอโทษยายที่ทำตัวไม่ดีแบบนี้โดยผู้เขียนเสนอสิ่งจูงใจให้กับต้นโดยต้องมีข้อแลกเปลี่ยนคือต้นต้องคืนเงินให้ยายและขอโทษยายแล้วผู้เขียนจะเป็นคนพาต้นไปเที่ยวงานเองซึ่งยายของต้นต้องอนุญาตแน่นอน และผู้เขียนจะออกเงินค่าเที่ยวให้กับต้น 200 บาทแต่ต้นจะต้องช่วยยายเก็บผักไปขายให้ได้สองเท่าของเงินที่ผู้เขียนให้ (ที่ผู้เขียนพาต้นไปเที่ยวนี้มีจุดประสงค์คือต้องการสังเกตพฤติกรรมกลุ่มเพื่อนของต้นนั่นเอง แฮ่ๆ) เมื่อได้สังเกตพฤติกรรมต่างๆของเพื่อนในกลุ่มต้นแล้วเกิดความกังวลขึ้นมาทันทีเพราะแต่ละคนกำลังอยากอวดอยากทำให้ตัวเองเด่นแต่กลายเป็นในทางที่ไม่ดี  หลังจากเที่ยวงานเสร็จผู้เขียนจึงเตือนสติพยายามชี้ให้เห็นถึงผลของการกระทำที่ไม่ดี ผู้เขียนไม่ได้ห้ามคบเพื่อนกลุ่มนี้แต่ให้คำแนะนำไปว่าถ้าอยากมีอนาคตที่ดีไม่ต้องลำบากหรือจบอนาคตตัวเองที่เรือนจำก็ต้องตั้งใจเรียนก่อน  เพื่อนๆจะยั่วยุอย่างไรก็ปล่อยวางเพราะถ้าเกิดมีผลเสียคนที่เสียใจคือตากับยาย ต้นเองก็อาจเสียอนาคต ดังนั้นตอนนี้ตั่งใจเรียนจะดีกว่าเพราะมันเป็นหน้าที่ของต้นเองไม่มีใครมารับผิดชอบแทนต้นได้ ผู้เขียนพยายามเต็มที่แล้วที่สุดต้นเลือกที่จะเรียนแค่จบ ม. 3 และออกมาหางานทำ แต่ก็ยังดีที่ทำงานได้ก็ให้ยาย ยังหวังว่าสักวันต้นคงมีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้ให้มากกว่านี้ 
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นติดเพื่อนมากเกินไปควรหาเวลามาอยู่กับลูกให้มากกว่าเดิมอีกสักนิดดีกว่านะคะคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาก่อนที่ลูกวัยรุ่นจะก้าวร้าวเกินแก้ไข
                                                                                                                       รวีวรรณ  เกตุสุทธิ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น