วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลูกน้อยและพัฒนาการ 3 - 12 เดือน





ลูกน้อยและพัฒนาการ 3 - 12  เดือน
                เด็กที่มีความเฉลียวฉลาด มีพัฒนาการที่เร็วนั้น นอกจากจะมีการพัฒนาการด้านสติปัญญาแล้ว ต้องมีการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะนอกจากจะมีการพัฒนาการของตัวลูกน้อยเองแล้ว ยังสามารถพัฒนาการในการเจริญเติบโต เพื่อให้พร้อมต่อการอยู่ร่วมกันและผู้อื่นในสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลง พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นก็คือ อารมณ์และจิตใจ หากพื้นฐานมีอารมณ์และจิตใจที่ดี ก็สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้ดี
คุณแม่ที่ผ่านช่วงการดูแลลูกน้อยและพัฒนาการลูกน้อยมาจนถึงเดือนที่ 3 จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเริ่มพลิกคว่ำ พลิกหงาย คุณแม่สามารถอยู่ใกล้ๆ พูดคุย คอยให้กำลังใจลูกน้อยเสมอ การใช้มือของลูกน้อยสามารถจับสิ่งของได้แน่นขึ้น คุณแม่ควรหาของเล่นนิ่มๆ เพื่อเพิ่มพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อมือและแขน  ลูกน้อยมีความสนใจสิ่งรอบข้างที่มีสีสันสดใสมากขึ้น หัดให้ลูกน้อยได้นอนตะแคงบ้าง นวดสัมผัสให้ลูกน้อยบ่อยๆ ด้วยก็ได้นะคะ
                เมื่อเข้าเดือนที่ 4 ลูกน้อยจะคอยหยิบหาสิ่งต่างๆ เข้าปาก คุณแม่ต้องระวังในการเลือกหาซื้อของเล่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ ช่วงนี้ลูกน้อยเริ่มจะนั่งเองได้แต่ต้องนั่งตักคุณแม่ได้ โดยที่ไม่ต้องจับไว้  คุณแม่เพิ่มพัฒนาการลูกน้อยด้วยการเล่นกับลูกน้อยด้วยการทำท่าทางต่างๆ ให้ลูกน้อยรับรู้ถึงภาษาท่าทางเพิ่มขึ้นค่ะ
                เมื่อเข้าเดือนที่ 5 ลูกน้อยสามารถพลิกคว่ำ พลิกหงายได้เอง เมื่อลูกน้อยนอนคว่ำและต้องการขยับไปด้านหน้า ลูกน้อยอาจจะเกิดอาการหงุดหงิดเพราะขยับไม่ได้ จะงอแง  เพิ่มพัฒนาการการมองเห็นของลูกน้อยด้วยการพูดคุย เล่นกับลูกน้อยมากขึ้น ด้วยการใช้สิ่งของเป็นสื่อกลาง หรือให้ลูกเล่นกับกระจก
                เมื่อเข้าเดือนที่ 6 ลูกน้อยสามารถทรงตัวได้ นั่งเองได้  เพิ่มพัฒนาการลูกน้อยด้วยการเล่นของเล่นด้วยกัน และพูดคุยจากการขอ แบ่งปันของเล่นด้วยการแบมือขอ ลูกน้อยจะรับรู้ได้จากท่าทางของคุณแม่ และหาหนังสือที่มีสีสันเพิ่มความสนใจ สมาธิให้ลูกน้อย
เมื่อเข้าเดือนที่ 7-8 ลูกน้อยจะเริ่มตั้งตัวคลาน แสดงท่าทางได้ มีเสียงเมื่อต้องการสิ่งของ คุณแม่อาจจะเปิดเพลงที่มีทำนองช้าๆ ฟังแล้วสบายๆ ให้ลูกน้อยฟัง เพิ่มการพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ คุณแม่หาสิ่งของหรือของเล่น สอนลูกน้อยด้วยการถือของในมือสลับการถือของให้ลูกน้อยมองตาม และพยายามจับของในมือคุณแม่ เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก
เมื่อเข้าเดือนที่ 9 หัดให้ลูกน้อยได้คลานเอง โดยการวางของที่ลูกน้อยอยากได้ห่างออกไปนิดหน่อย และเพิ่มพัฒนาการการการมองเห็นด้วยการหาของเล่นที่มีรูปทรงกลม ให้ลูกน้อยมองตามและคลานตามของเล่น  เพิ่มพัฒนาการสมองด้วยการเรียกชื่อลูกน้อยบ่อยๆ สอนให้เรียกพ่อ แม่  เพิ่มการจดจำของลูกน้อย คุณพ่อ คุณแม่ ควรพูดคุยกับลูกช้าๆ ชัดเจน และควรพูดคุยกับลูกน้อยบ่อยๆ
เมื่อเข้าเดือนที่ 10 ลูกน้อยสามารถจดจำและเลียนแบบท่าทางที่คุณแม่ทำให้ดูได้ จะทำเสียงอ้อแอ้ เมื่อต้องการสิ่งของจากคุณแม่ ช่วงนี้ลูกน้อยจะคลานเก่ง บางคนอาจจะเกาะยืนได้ แต่ยังยืนได้ไม่นานนัก
เมื่อเข้าเดือนที่ 11  ลูกน้อยสามารถเกาะยืนทรงตัวได้ มีการก้าวขาได้ 1-2 ก้าวแล้วก็ล้มนั่งลง เพิ่มพัฒนาการการทรงตัวของลูกน้อย ด้วยการตบมือแปะๆ ให้กำลังใจลูกน้อยเดินต่ออีก 3-4 ก้าว เมื่อลูกน้อยทำได้ก็ให้กำลังใจด้วยการพูดคุยและหอมแก้ม ทำให้ลูกน้อยรู้สึกมีความมั่นใจ
เมื่อเข้าเดินที่ 12 ลูกน้อยสามารถเดินได้เอง แต่จะเดินช้าๆ เพิ่มพัฒนาการการเคลื่อนไหวด้วยการพาไปเดินเล่น หรือทำของเล่นแบบหมุนให้ลูกน้อยจับและเดินไปรอบๆ
นอกจากการดูแลเอาใจใส่ในเบื้องต้นแล้ว คุณแม่อาจจะมีการจดบันทึกพัฒนาการลูกน้อย และสิ่งที่สำคัญที่คุณแม่ต้องปฏิบัติตลอดระยะเวลาในการดูแลลูกน้อยก็คือ การพูดคุย การเล่นหยอกล้อ การกอด การอุ้ม ส่งเสริมการได้ยินและเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกน้อยว่า คุณแม่อยู่ใกล้ๆ เสมอ คือ การเล่านิทานให้ฟังตั้งแต่ลูกน้อยได้ยินเสียง (3 เดือน) และเปิดเพลงเบาๆ ให้ฟังเหมือนกับตอนที่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ แค่นี้ลูกน้อยก็อารมณ์ดี เลี้ยงง่ายไม่งอแงค่ะ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น