วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

การดูแลเด็กแรกคลอด – 1 ปีแรก




การดูแลเด็กแรกคลอด – 1 ปีแรก
          ทารกแรกคลอดมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานคือ การพยายามเอาตัวรอด เริ่มต้นตั้งแต่ที่ทารกหลุดพ้นจากครรภ์มารดาและส่งเสียงร้องเพื่อขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ซึ่งการร้องของทารกเป็นวิธีสื่อสารเพียงอย่างเดียวที่ทารกสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อว่า หิว เจ็บ กลัว ไม่สบาย ส่วนการสื่อสารทางด้านอื่นๆ ก็จะมีตามมาในแต่ละช่วงระยะของพัฒนาการแต่ละช่วงจนถึงขวบปีแบ่งเป็น 4 ช่วงคือ
ระยะแรกคลอดถึงสามเดือน, สามเดือนขึ้นไปถึงหกเดือน, หกเดือนถึงเก้าเดือน, เก้าเดือนถึงหนึ่งปี  ในแต่ละช่วงเวลา คุณแม่อาจจะพบกับปัญหาของทารกแตกต่างกันไป เรามาลองลำดับดูว่าทารกแรกคลอด - 1 ปี มีปัญหาอะไรบ้าง และจะหาวิธีแก้ไขอย่างไร
            จากประสบการณ์ของผู้เขียน หลังออกจากห้องคลอดกลับมาห้องพักฟื้น ครั้งแรกที่เห็นหน้าลูกตกใจค่ะ หัวของลูกมีเม็ดตุ่มใสๆคล้ายน้ำเหลืองผุดขึ้นเต็มไปหมดสอบถามแพทย์ จึงได้รู้ว่าลูกเกิดมาพร้อมกับอาการของโรคน้ำเหลืองไม่ดี “ เพิ่งเคยรู้จัก ดิฉันไม่เคยเป็น แล้วต้องรักษาอย่างไรคะ?” คุณหมอแนะนำว่า ควรดูแลในเรื่องของความสะอาดของเสื้อผ้าทารก ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อม ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอนสำหรับเด็ก ห้ามใช้สารเคมีรุนแรงซัก ล้างของใช้ของทารก ส่วนในเรื่องของผิวทารก แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และป้องกันผิวแห้งด้วยเบบี้ออย  เพราะทารกแรกคลอดแบบนี้แพทย์จะพยายามไม่ใช้ยาในการรักษา ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ   แบบนี้ไม่ยากคุณแม่มือใหม่อย่างดิฉันสามารถทำได้ค่ะ  ถึงเวลาให้นม ต้องบอกก่อนว่าโรงพยาบาลที่ดิฉันไปคลอดนั้นเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ดังนั้นเขาจึงส่งเสริมให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วนนมแม่เท่านั้น ยกเว้นเป็นบางกรณี ดิฉันมีปัญหาน้ำนมไม่ไหลและลูกก็หิวร้องตลอดเวลา พยาบาลช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้นมผสม ปัญหาซ้ำซ้อนคือลูกไม่ยอมดูดนมจากขวดสรุปว่ามื้อแรกในชีวิตเจ้าตัวน้อยกินนมจากไซริงค์ค่ะ กินไปร้องไป สงสารลูกมาก คุณยายมาเยี่ยมรู้ว่าน้ำนมไม่ไหลก็เลยใช้วิธีเอาผ้าชุบน้ำอุ่นมาคลึงที่เต้านมให้แล้วก็ใช้ที่ปั๊มน้ำนมลองปั๊มสลับกันอยู่หลายรอบจนเริ่มมีน้ำนมไหลออกมาจึงลองให้ลูกดูด ตอนแรกก็กลัวว่าลูกจะไม่ดูด เพราะให้ดูดจากขวดนมยังไม่ดูดเลย แต่กลายเป็นว่าลูกดูดนมจากฉันอย่างง่ายดาย หมดปัญหาในเรื่องการกินของลูกไป
หลังจากออกจากโรงพยาบาลกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ประมาณ 2 สัปดาห์เกิดปัญหาขึ้นอีกเพราะลูกมีอาการแบบที่คนสมัยก่อนเรียกว่า”อ้อนสามเดือน” หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “ โคลิค ”  อาการแบบนี้ คือร้องเป็นเวลานาน 2-3 ชั่วโมง  เกร็งตัวจนหน้าแดง เห็นแล้วสงสารลูกมาก ตอนแรกดิฉันนึกว่าลูกปวดท้อง ก็พยายามเอามหาหิงค์มาทาที่ท้อง ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แต่ลูกก็ยังไม่หยุดร้อง  ให้กินนมก็ดูดอยู่แป๊บเดียว แล้วก็ร้องต่อ ลูกจะร้องในเวลาหัวค่ำจนถึงจนถึงตีสามทุกวัน ตอนกลางวันก็จะมีร้องบ้างแต่ไม่นานยังให้เวลาดิฉันได้ซักผ้า ได้ทานข้าวอยู่บ้าง ผ่านมาถึงสามวันที่ลูกร้องเหมือนเจ็บปวดจนดิฉันทนไม่ไหวพาลูกไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นอาการปรกติสำหรับเด็กแรกคลอดบางคนซึ่งรวมลูกดิฉันด้วย คุณหมออธิบายให้ฟังว่าอาการแบบนี้ จะหายไปเองเมื่อเมื่อเด็กก้าวเข้าสู่พัฒนาการอีกช่วงหนึ่ง คุณแม่สามารถช่วยทำให้เด็กมีอาการดีขึ้น ร้องน้อยลงด้วยการ ให้เด็กอาบน้ำอุ่นและให้ความอบอุ่นแก่ลูกด้วยการเอาผ้าห่อตัวเด็ก , นวดเบาๆตามร่างกายตามเข็มนาฬิกาให้กับลูก,  หลังจากให้นมลูกจนอิ่มแล้ว ให้อุ้มลูกในท่าพาดบ่าตบก้นเบาๆเพื่อทำให้ลูกเรอ, ส่วนในเรื่องของน้ำนมดิฉันบอกว่าดิฉันเลี้ยงด้วยนมตัวเอง จึงหมดปัญหาเรื่องนมสำหรับลูกไป จะมีก็แต่เพียงคำแนะนำในเรื่องอาหารสำหรับคุณแม่ที่คุณหมอแนะนำว่าควรจะเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ใส่สารประกอบจำพวกผงชูรส งดเว้นอาหารหมักดอง และทานผัก ผลไม้ด้วย เพราะไม่ว่าคุณแม่จะทานอะไรเข้าไปทารกก็จะได้รับสารอาหารเช่นเดียวกันกับคุณแม่ หลังจากกลับจากโรงพยาบาลดิฉันก็ปฏิบัติตามที่คุณหมอแนะนำทุกอย่าง ซึ่งก็ได้ผลอยู่บ้าง ลูกไม่ถึงกับหยุดร้องเลยทีเดียวยังคงร้องอยู่บ้างแต่ไม่นานเท่าใดนัก ยังให้เวลาดิฉันได้พักผ่อนในตอนกลางคืนอยู่บ้าง ช่วงสามเดือนแรกนี้คุณแม่มือใหม่แบบฉันต้องปรับตัวและปรับอารมณ์เพื่อทำความเข้าใจในการเลี้ยงลูกวัยทารกให้ดีที่สุด ครั้งหน้ามาพบกับปัญหาการเลี้ยงทารกในช่วง 4-6 เดือนกันค่ะ
                                                                                                            รวีวรรณ เกตุสุทธิ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น