วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

ลูกน้อยในวัย 4-6 เดือน




ลูกน้อยในวัย 4-6 เดือน
ทารกในช่วงระยะนี้ ประสาทสัมผัสทางสายตา และการได้ยินเริ่มทำงานได้ดีแล้ว เริ่มมีการพลิกตัว ยกแขน ยกขา ดูดนิ้ว มองตาม รับฟังเสียงรอบตัว เลียนแบบการพูดด้วยการห่อปาก เริ่มคว้าของ จับนั่งพิงได้สักระยะ เริ่มชันหัวขึ้นเมื่อทารกพลิกตัวคว่ำ เริมตอบโต้ต่อสิ่งเร้า ฯลฯ เหล่านี้เป็นพัฒนาการในทารกช่วง 4-6 เดือน การดูแลเด็กวัยนี้ไม่ค่อยยุ่งยากเท่าใดนัก เพราะคุณแม่มือใหม่ปรับตัวได้แล้วรวมทั้งเด็กก็เริ่มชินกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เริ่มคุ้นหน้า คุณพ่อคุณแม่ และบุคคลแวดล้อมในครอบครัว เด็กในวัยนี้จะเริ่มนอนน้อยลงเพราะประสาทสัมผัสในส่วนต่างๆเริ่มทำงานเกือบเต็มทีแล้ว ดังนั้นในเวลาที่เด็กตื่น บางคนร้อง บางคนก็ไม่ร้อง ขึ้นอยู่กับสภาวะอารมณ์ของเด็กในขณะนั้นนั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วถ้าเด็กพักผ่อนได้เต็มที่จะไม่มีอาการงอแงหลังจากตื่นนอน บางคนสามารถพลิกตัวเองได้ หรือนอนดูสถานที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการฝึกพัฒนาในส่วนของสายตา และสมองของเด็กนั่นเอง
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเซลล์สมองของเด็กจะมีอยู่ประมาณแสนล้านเซลล์และเด็กทุกคนมีเท่ากัน แต่เซลล์สมองเหล่านี้เชื่อมต่อกันแค่เพียง 20% และการเชื่อมต่อของเซลล์สมองนี้สามารถบอกได้ว่าเด็กจะฉลาดมากหรือน้อยเพียงใด ดังนั้นคุณแม่มือใหม่สามารถเริ่มพัฒนา IQ และ EQ ของเด็กได้ง่ายๆเช่น การเปิดเพลงเบาท่วงทำนองที่ฟังสบาย ผ่อนคลาย ให้ลูกน้อยฟัง แต่ควรจะเลือกเวลาเปิดที่เด็กสามารถฟังได้ เช่น หลังอาบน้ำ หรือ หลังจากตื่นนอนที่เด็กกำลังอารมณ์ดี  การนำโมบายสีมาแขวนไว้กับแปลนอนของเด็กเพื่อให้เด็กฝึกสายตาให้ได้เรียนรู้กับสีต่างๆ เด็กในวัยนี้สามารถเล่นของเล่นได้แล้วแต่ไม่ควรมีของเล่นมากชิ้นเกินไป ไม่ใหญ่เกินไป และมีความปลอดภัยสูงเพื่อเป็นการฝึกให้เด็กได้รู้จักกับรูปทรงและสี ดังนั้นถ้าให้ดู หรือให้สัมผัสกับของเล่นมากชิ้นเด็กจะสับสนในเรื่องของรูปทรงและสีได้
การพูดคุยกับเด็กวัยนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนแบบกิริยาโดยดูจากปาก น้ำเสียงและสีหน้า แม้เด็กบางคนจะยังไม่ออกเสียงแต่เด็กก็จะเริ่มมีการฝึก ห่อปาก อ้าปาก ยิ้ม หัวเราะกับคนที่เด็กคุ้นหน้าและในขณะเดียวกันเด็กอาจจะแสดงสีหน้าหวาดกลัว หรือร้องไห้ เมื่อพบกับคนแปลกหน้า หรือสิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
การพลิกตัวของเด็กวัยนี้ เกิดจากพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กที่เริ่มมีความแข็งแรงมากขึ้นจนสามารถที่จะตะแคงตัว หรือพลิกตัวได้เองตามที่เด็กต้องการ คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อพัฒนาทางด้านร่างกายให้กับเด็กได้ง่ายๆ ด้วยการจับเด็กนอนคว่ำบ่อยๆ เพื่อให้เด็กสามารถฝึกเกร็งคอและช่วงหลังแข็งแรง เริ่มแรกอาจจะครั้งละประมาณ 3-5 นาที แต่ไม่ควรทำติดต่อกันเพราะจะทำให้เด็กเหนื่อยเกินไปและไม่ชอบกับการถูกจับนอนคว่ำ หาของเล่นที่เด็กสามารถหยิบจับได้มาวางใกล้ๆเพื่อดึงความสนใจให้เด็กอยากจะหยิบของเล่นเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนหลัง แขน ขา และนิ้วมือ แต่เด็กบางคนสามารถพลิกตัวได้ตั้งแต่สองเดือนขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็กแต่ละคน คุณแม่ควรหาที่นอนที่แข็งสักหน่อยแต่ไม่มากจนเกินไปเพื่อให้ง่ายต่อการทรงตัวของเด็ก และถ้าเด็กสามารถที่จะพลิกตัวเองได้แล้วคุณแม่ไม่ควรปล่อยเด็กให้อยู่ตามลำพังหรือบนที่นอนสูงๆเพราะเด็กอาจจะพลัดตกได้ง่าย เมื่อเด็กมีความพร้อมแล้วหลังจากที่พลิกคว่ำได้เด็กก็จะเริ่มพัฒนาเป็นการคืบตัว อาจจะไปข้างหน้าหรือถอยหลังนั่นแล้วแต่เด็กจะสามารถทำได้ คุณแม่ช่วยเด็กพัฒนาได้ด้วยการวางของเล่นไว้ข้างหน้าของเด็กเพื่อให้เด็กคืบตัวมาหยิบของเล่น คุณแม่ควรให้กำลังใจด้วยการ กอด ยิ้มและชมเมื่อเด็กสามารถทำได้เพราะเด็กจะรับรู้ได้จากสัมผัส น้ำเสียงและอารมณ์ของคุณแม่
การดูดนิ้วของเด็กเกิดจากการที่เด็กรู้สึกหิวหรือเพลิดเพลินเมื่อมีการถูกสัมผัสของปากหรือนิ้วมือ ในเด็กเล็กๆวัยนี้คุณแม่สามารถลดพฤติกรรมของเด็กได้ด้วยการหาจุกนมยางมาให้เด็กดูดแทน หรือถ้าเด็กสามารถหยิบจับได้คุณแม่สามารถหั่นแครอท ฝรั่ง เป็นชิ้นยาวๆเพื่อให้เด็กลองจับและคุ้นเคยกับรสชาติของอาหารนอกเหนือจากเวลาให้นมแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณแม่ต้องคอยดูอยู่อย่างใกล้ชิดเพราะเด็กบางคนสามารถใช้เหงือกกัดให้แครอทหรือฝรั่งขาดได้ และควรหมั่นตัดเล็บให้กับเด็กเพื่อรักษาความสะอาดและเพื่อป้องกันเด็กใช้เล็บข่วนหน้าตัวเองอีกด้วย
รวีวรรณ เกตุสุทธิ















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น