นิทานกับเด็ก
นิทานหรือเรื่องเล่ามีมาแต่โบราณ ทุกประเทศ ทุกชนชาติต่างมีนิทานหรือเรื่องเล่าประจำชาติ
หรือนิทานประจำท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรมของคนในชาตินั้นๆ ทำไมต้องเล่านิทานให้ลูกฟัง
? เชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่บางส่วนที่มองว่าการเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นเรื่องไร้สาระเพราะคิดว่านิทานคือเรื่องโกหก
และพยายามสอนลูกให้อยู่กับความเป็นจริงมากกว่า
ซึ่งความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่มีความเห็นแก่ตัวอย่างมาก
เพราะการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้จากจินตนาการที่เด็กได้เห็น ได้ฟัง และได้คิดเติมแต่งตามจินตนาการอย่างสร้างสรรค์
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เข้าใจว่าจินตนาการของเด็กนั้นกว้างใหญ่เพียงใด และการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีทางความคิด หรือการบ่มเพราะนิสัยที่ดีสำหรับเด็ก
ก็ได้พื้นฐานคำสอนที่ดีมาจากนิทานนั่นเอง
นิทานนานาชาติเป็นนิทานที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิสัย การกินอยู่ ขนบธรรมเนียม
วัฒนธรรมประเพณีของชนชาติต่างๆเอาไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ
ได้ศึกษาเรียนรู้ เปรียบเทียบเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้นำการปฏิบัติของตัวเด็กเอง
ผู้ใหญ่มักจะเล่านิทานให้เด็กๆได้ฟังนอกเหนือจากความสนุกเพลิดเพลินแล้วยังมุ่งหวังให้เด็กคิดและนำเอาข้อคิดดีๆจากในนิทานไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวของเด็กเอง
และการที่เด็กชอบฟังนิทานก็เพราะเด็กต้องการความรัก ต้องการเล่น ต้องการสิ่งวิเศษมหัศจรรย์
ความลึกลับ ความสวยงามนั่นเอง
แต่นิทานที่มีอย่างมากมายทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะให้แค่ความบันเทิง
สนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น
นิทานบางประเภทยังให้ความรู้ในเรื่องต่างๆที่เด็กจะต้องได้ใช้ได้รู้ในชีวิตประจำวันของเด็กเองด้วย
จุดประสงค์ของผู้แต่งนิทานคือต้องการให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว บุคคลและสถานที่ต่างๆรอบตัวหรือที่เด็กควรรู้จัก
สิ่งของๆ สัตว์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งตัวของเด็กและอวัยวะต่างๆของตัวเด็กนั่นเอง
ดังนั้นนิทานจึงมีอย่างมากมายหลากหลายเพื่อมุ่งสอนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้
จินตนาการของเด็กกับนิทานสัมพันธ์กันอย่างไร?
เพราะโลกแห่งจินตนาการของเด็กนั้นกว้างใหญ่ไร้ขีดจำกัด
เด็กสามารถมองเห็นตัวเองจากจินตนาการให้เป็นในแบบที่เด็กต้องการได้
และในบางครั้งเด็กสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองจินตนาการไว้ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้โดยที่ผู้ใหญ่อย่างเราก็คาดไม่ถึง
ขอยกตัวอย่างเรื่องของประสบการณ์ที่ดิฉันได้เคยพบมาในขณะที่ยังเป็นครูผู้สอนเด็กปฐมวัยสักเรื่อง
ดิฉันได้แต่งนิทานขึ้นมาเรื่องหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กเรียนรู้และจดจำในเรื่องเกี่ยวกับ
“จำนวนและตัวเลข” การแต่งนิทานเรื่องนี้ดิฉันไม่ได้ทำสื่ออะไรเพื่อให้เด็กดู
พอแต่งเสร็จ ดิฉันก็ลองเล่าให้เด็กฟังและเขียนรูปภาพประกอบการเล่านิทานเท่านั้น
ดิฉันเล่านิทานเรื่องนี้ให้เด็กฟังเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เต็ม อาทิตย์ต่อมา
น้องเจมส์ลูกศิษย์ตัวน้อยก็มีโหลแก้วมาอวดดิฉัน
ภายในโหลแก้วนั้นมีผีเสื้อปีกสวยอยู่ข้างในด้วยหนึ่งตัว ประโยคแรกที่น้องเจมส์บอกกับดิฉันคือ
“คุณครูครับ มันเหมือนกับนิทานของคุณครูเลยครับ”
ในความคิดของคนทั่วไปอาจจะมองว่า “ก็แค่ผีเสื้อตัวหนึ่ง” แต่สำหรับเด็ก มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ยิ่งนัก
ที่สำคัญมันคือความสำเร็จจากจินตนาการของเขา
นิทานที่ดิฉันเพียรเล่าให้เด็กฟังมันเป็นเรื่องของจำนวนสัตว์ต่างๆตามตัวเลข
และในนิทานนั้นมีเจ้าหนอนกับผีเสื้ออยู่ด้วย
และความที่น้องเจมส์อยากจะรู้ว่าผีเสื้อมาจากหนอนเหมือนกับที่ดิฉันเล่าให้ฟังจริงหรือเปล่า
น้องเจมส์จึงไปขอให้คุณพ่อพาไปจับหนอนมาใส่โหลและให้ใบต้นรักเป็นอาหาร นับว่าน้องเจมส์โชคดีมากที่คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนในเรื่องการเรียนรู้และคอยอธิบายเหตุผลทุกครั้งที่เจ้าหนอนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นผีเสื้อ
น้องเจมส์จึงเอาผีเสื้อมาอวดฉันและเพื่อนๆในชั้นเรียนด้วยความภาคภูมิใจ
นิทานของดิฉันไม่ได้สอนแค่เรื่องคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสอดแทรกทั้งในเรื่อง
วิทยาศาสตร์ สังคม ศิลปะ ภาษา
และที่ฉันภูมิใจมากก็คือเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมที่สัมฤทธิ์ผล
เพราะหลังจากที่น้องเจมส์ได้แบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนๆแล้ว
น้องเจมส์ก็นำเจ้าผีเสื้อตัวนั้นไปปล่อยเพื่อให้มันอยู่ตามธรรมชาติของมันน้องเจมส์บอกกับดิฉันว่า
“เพราะที่นี่ไม่ใช่บ้านของผีเสื้อครับ”
ยังมีนิทานอีกหลายๆเรื่องในทั่วทุกมุมโลกที่เด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้อ่าน
ดังนั้นนิทานอมตะหรือนิทานยอดฮิตของแต่ละประเทศจึงถูกนำมาสร้างเป็นหนังหรือการ์ตูนเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆ
และเพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งจึงทำให้เด็กสามารถเข้าถึงนิทานของชาติต่างๆได้อย่างง่ายดายอีกทั้งสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงก็ยังสามารถช่วยนำจินตนาการของเด็กเข้าไปสู่โลกนิทานได้เป็นอย่างดี
คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งรำคาญเวลาที่เด็กบอกว่าเขาคือตัวละครในนิทานเรื่องนั้นเรื่องนี้
นั่นเป็นเพราะเด็กกำลังจินตนาการในเรื่องที่เข้าได้ดูมาจากในนิทาน คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเสริมในเรื่องของการเปรียบเทียบระหว่างการทำความดี
และไม่ดีของตัวละครรวมทั้งผลที่ได้รับในแต่ละอย่างของตัวละครในนิทาน เพื่อจะได้เป็นการปลูกฝังให้เด็กได้ใช้ความคิดเพื่อแยกแยะเหตุและผล
รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กอีกด้วย
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ของเด็ก
ก็มาจากนิทานเป็นหลักนั่นเอง หวังว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกคงจะพอได้รับประโยชน์จากงานเขียนชิ้นนี้
สละเวลาเล่านิทานให้ลูกฟังสัก 20
นาทีเพื่อให้ลูกได้รับความอบอุ่นและการปลูกฝังที่ดี ขอบคุณค่ะ
รวีวรรณ เกตุสุทธิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น