วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

ทำอย่างไรให้ลูกมีเชาว์ทางอารมณ์




ทำอย่างไรให้ลูกมีเชาว์ทางอารมณ์
สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมีอิทธิพลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก เพราะในแต่ละวันที่เด็กได้มองเห็น ได้ฟัง ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส  ได้คิดและจดจำสิ่งต่างๆที่คุณพ่อคุณแม่สอนหรือแนะนำจะทำให้เด็กเก็บรายละเอียดในการเรียนรู้ถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี และถ้าคุณพ่อคุณแม่กระตุ้นด้วยการให้เด็กเรียนรู้และปฏิบัติซ้ำๆกันหลายครั้งจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และชำนาญในเรื่องต่างๆที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะให้เป็น หากคุณพ่อคุณแม่คาดหวังให้ลูกมีเชาว์ทางอารมณ์ต้องเริ่มจาการที่คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง 
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เด็กมีจิตใจเอื้อเฟื้อแบ่งปันคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างแก่เด็ก  ในตอนแรกเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าการกระทำแบบนี้มีความหมายว่าอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยอธิบายเสริมเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น การปลูกฝังในเรื่องการแบ่งปัน ความมีน้ำใจและการเอื้อเฟื้อทำได้ง่ายๆด้วยการสอนเด็กให้มีความสุขจากการให้ อาจจะเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่ให้ในสิ่งเล็กๆเช่นการให้ขนมให้ของเล่นแก่เด็ก ก่อนจะให้ควรบอกกับเด็กว่า “ขนมชิ้นนี้ของคุณแม่เดี๋ยวคุณแม่แบ่งให้น้องทานนะคะ” หรือถ้าจะให้ของเล่นควรจะบอกให้เด็กรู้ว่านี่คือการให้เช่นบอกว่า “ของเล่นชิ้นนี้คุณแม่ซื้อมา คุณแม่ให้น้องนะคะ” คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเด็กก็เป็นผู้ให้และแบ่งปันต่อผู้อื่นได้เช่นกัน  เมื่อคุณแม่ให้ของแก่เด็กแล้วต้องบอกกับเด็กให้แบ่งปันผู้อื่นเช่น พี่ คุณพ่อ สมาชิกในบ้านหรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง โดยทั่วไปแล้วเด็กจะมีความรู้สึกหวงข้าวของของตัวเอง เมื่อเด็กคิดว่าของอันนั้นอันนี้เป็นของๆเขา ดังนั้นการที่จะบอกให้เด็กเอาสิ่งของหรือขนมของเด็กเองไปแบ่งปันให้คนอื่นเด็กอาจจะไม่ยอม คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการให้จะเป็นการทำให้ผู้อื่นรักโดยการยกตัวอย่างจากการที่คุณแม่ให้สิ่งของแก่เด็ก ลองถามเด็กว่า “น้องรักคุณแม่ไหมรักเพราะคุณแม่ให้ของใช่ไหม ถ้าน้องอยากให้คนอื่นรักน้องต้องรู้จักแบ่งปัน เมื่อน้องได้รับแล้วแบ่งปันต่อผู้อื่นน้องก็จะได้รับความรักจากผู้อื่นเช่นกัน” เด็กส่วนใหญ่มักจะกลัวการไม่ได้รับความรักจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชี้ให้เด็กเห็นถึงเหตุและผลในเรื่องของการแบ่งปันอย่างซ้ำๆเด็กจะเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นผู้ให้จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ค่อยเสริมในเรื่องการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เด็กมีความเคารพสิทธิส่วนบุคคล ต้องค่อยๆปลูกฝังและอธิบายให้เด็กเข้าใจเพราะเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่เด็กเล็กๆยังไม่สามารถเข้าใจได้ในทันที ต้องให้เด็กค่อยๆเรียนรู้จากการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กเองอย่างเช่น การที่คุณพ่อคุณแม่แบ่งแยกของใช้ของเด็ก ของพี่ หรือของสมาชิกภายในบ้านแล้วบอกให้เด็กรู้ว่า สิ่งของนี้เป็นของตัวเด็กเอง ของสิ่งนี้เป็นของคุณพ่อคุณแม่  ของสิ่งนี้เป็นของพี่ถ้าน้องต้องการจะใช้ของพี่ ของคุณพ่อคุณแม่น้องจะต้องขออนุญาตเจ้าของเสียก่อน ถ้าน้องไม่ขออนุญาตเจ้าของก่อนเจ้าของอาจจะไม่ชอบ เหมือนถ้าคุณแม่หยิบของเล่นของน้องมาเก็บโดยไม่บอกน้อง น้องจะไม่ชอบใจที่คุณแม่ทำแบบนี้ไหม? การยกตัวให้เด็กเห็นตามจริงอย่างง่ายๆแบบนี้จะทำให้เด็กเข้าใจได้ดีในเรื่องของการเคารพสิทธิของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งสอนให้เด็กเคารพในการตัดสินใจของผู้อื่นอย่างมีเหตุผลอย่างเช่น ถ้าเด็กเล่นกันกับเพื่อนแล้วเพื่อนเห็นว่ามีลูกนกตกลงมา เพื่อนบอกว่าให้เอาไปให้คุณแม่นำลูกนกไปคืนที่เดิมเพราะแม่นกจะต้องตามหาลูกอย่างแน่นอน  แต่เด็กบอกว่าอยากได้เอามาดูเล่น คุณแม่ต้องชี้ให้เด็กเห็นถึงเหตุและผลว่าทำไมจึงเลี้ยงลูกนกเองไม่ได้และบอกกับเด็กว่าเพื่อนตัดสินใจถูกแล้วน้องต้องเคารพสิทธิในการตัดสินใจของเพื่อนและของลูกนกที่ยังต้องอยู่กับแม่นกจนกว่าจะบินได้เอง  การปลูกฝังในเรื่องของการเคารพสิทธิส่วนบุคคลในเด็กไม่ใช่เรื่องยากสามารถทำให้เด็กเข้าใจในเรื่องนี้จากการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกๆวันอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจที่จะสอนหรือไม่เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่บางท่านคิดว่าเด็กยังเล็กคงยังไม่เข้าใจแต่ถ้าปล่อยให้เด็กละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจนเป็นนิสัยจะทำให้เด็กกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเมื่อเข้าสู่สังคมภายนอก






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น