วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

เมื่อ คุณพ่อขี้โมโหทำไงดี





เมื่อ คุณพ่อขี้โมโหทำไงดี
ครอบครัวจะสมบูรณ์ได้ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูก และจะสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าทุกคนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ถ้าเกิดคุณพ่อบ้านเป็นคนขี้โมโหล่ะ คุณแม่และคุณลูกจะรับมืออย่างไรดี

ครอบครัวของฉันก่อร่างสร้างกันมาเมื่อปี47 แฟนฉันเป็นผู้ชายแบบลุยๆ เวลาอารมณ์ดีก็ดี๊ดี แต่ถ้าเกิดมีอะไรที่ไม่พอใจจะโกรธง่ายเหลือเกิน แต่ไม่มีการลงไม้ลงมือหรอกนะ เป็นเพียงการบ่นๆๆๆๆๆ  ที่น่ารำคาญ และก็ทำงอนไม่พูดไม่จา มันทำให้บรรยากาศในบ้านมันน่าเบื่อมากๆ ตอนยังไม่มีลูกก็พอรับได้นะ พอทะเลาะกันก็ต่างคนต่างอยู่ เดี๋ยวก็หายเอง  และก็ค่อยๆปรับตัวกันไป คนโตๆกันแล้ว ก็พอเข้าใจว่าจะรับมือกันอย่างไร แต่พอลูกคนแรกคลอดออกมา เด็กเล็กๆก็ปัญหาเยอะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวฉี่แตก  เดี๋ยวไม่สบาย  คุณพ่อก็แอบมีโมโหบ้างเป็นระยะ แต่พอลูกเริ่มโต เดินได้ และเริ่มรื้อของไม่เก็บ คราวนี้โมโหและมีตะคอก และฉันจะรับมืออย่างไรดี ลองอ่านดูนะคะ
1.             เมื่อคุณพ่อตะคอกลูก แรกๆฉันก็จะพาลูกออกไปจากบริเวณนั้นเพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว ที่ลูกจะได้ไม่ต้องพบเจอกับสิ่งที่ไม่ดี แต่พอมานั่งคิดอีกที เราจะหนีปัญหาทำไม เพราะบนโลกใบนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่คนที่พูดเพราะ   คนที่พูดไม่เพราะมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เราไม่สามารถไปคอยดูแลลูกเราให้พบเจอแต่คนพูดดี พูดเพราะได้ตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องใช้ความขี้โมโหของพ่อเป็นประสบการณ์ตรงให้ลูกได้เรียนรู้ ฉันก็เลยสอนลูกฉันว่า "หนูดูพ่อสิ พ่อทำแบบนี้บ่นๆๆ พูดก็ไม่เพราะ หนูว่าพ่อน่ารักไหม" ลูกชายฉันก็ตอบว่า "ไม่น่ารัก" ฉันก็ถามต่อว่า "เวลาพ่อเป็นแบบนี้หนูอยากอยู่กับพ่อไหม" ลูกชายฉันส่ายหน้ายิกๆ ฉันก็เลยสอนลูกฉันว่า "ถ้าหนูไม่ชอบเวลาพ่อโมโห และถ้าหนูโมโหบ้าง หนูจะทำแบบพ่อได้ไหม" ลูกชายฉันตอบว่า "ไม่ได้"  ตอนนี้ฉันกับลูกชายก็คอยสอนน้องเล็กให้รู้จักการควบคุมอารมณ์ ไม่ใช่ว่าไม่ได้อะไรก็ร้องไห้ อาละวาด
2.             บางครั้งพ่อโมโหก็มีหลุดคำหยาบออกมาบ้าง เจ้าลูกชายไม่รู้ความหมายก็เอามาพูดบ้าง ครั้งแรกฉันก็อึ้งที่ลูกพูดและก็พยายามอธิบายความหมายให้เขาฟังว่ามันหมายความประมาณว่าอะไร และเด็กดี ไม่ควรพูด แต่เจ้าลูกชายตัวแสบยิ่งโตก็ยิ่งคะนอง เอามาพูด ทำเป็นพูดแล้วขำ แต่แม่ไม่ขำด้วยหรอกนะ เมื่อเตือนอยู่หลายครั้งด้วยวิธีละมุนละม่อมแล้วไม่ฟัง แม่ก็จัดให้เกลือจิ้มเกลือ ชอบคำหยาบใช่ไหมค่ะลูก ถ้าฉันได้ยินเมื่อไร ฉันจะจัดภาษาพ่อขุนรามฯให้1ชุดใหญ่พร้อมคำหยาบคำนั้นที่ลูกชายฉันพูดออกมา   ใครจะคิดว่าวิธีของฉันเป็นวิธีที่รุนแรง ฉันก็เข้าใจรับได้  แต่ฉันเชื่อว่า คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเองจะรับรู้ได้ว่า  เด็กแต่ละคน  วิธีการสอน  การปราบความดื้อของเด็ก เราไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ทุกคน คุณแม่ต้องคอยค้นหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับลูกตัวเอง  แต่ต้องทำไปบนพื้นฐานของเหตุและผลนะคะไม่ใช่อารมณ์
           
                3.ส่วนคุณพ่อ ฉันก็ไม่ได้ปล่อยให้เอาแต่ขี้โมโหไปเรื่อยหรอกนะ เวลาอารมณ์ดีๆ ย้ำ! ว่าต้องอารมณ์ดีจริงๆนะ   ฉันก็จะคอยตะล่อมๆพูดให้เข้าใจว่า อย่าขี้โมโหนักคนที่เขาอยู่ใกล้ๆ  เครียด เวลาโมโหให้นิ่งๆ หรือ ถ้าบางทีฉันก็ทนไม่ได้เหมือนกันเวลาที่เขาโมโห  ฉันก็จะพูดออกไปเลยว่า " เป็นอะไรมากเปล่า โมโหง่ายเหลือเกิน  อะไรนิดอะไรหน่อยไม่ถูกใจไม่ได้เลย "  คุณพ่อก็พอจะได้สติและนิ่งขึ้นเลิกบ่น บางทีถ้าคุณแม่อย่างเราจับทางคุณพ่อบ้านถูก เรื่องขี้โมโหก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะคนขี้โมโห เขาก็รู้ตัวนะว่าเขาขี้โมโหแต่บางทีระงับไม่ได้  เพราะคุณพ่อเคยพูดกับลูกว่า “ พ่อไม่มีอะไรหรอก โมโหแป๊บเดียว เดี๋ยวก็หาย  ถ้าพ่อโมโหอย่ามาวุ่นวาย ปล่อยๆ พ่อไป ” ลูกของฉันก็เข้าใจ  เพราะฉันจะย้ำเสมอว่า ที่พ่อโมโหไม่ใช่ว่าพ่อเขาไม่รักเรานะ  เขารักเราแต่เรื่องอารมณ์บางทีมันก็ควบคุมยาก  เมื่อเรารู้ว่าพ่อเราเป็นแบบนี้  เราก็ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

                ชีวิตครอบครัวของฉันเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาก็ค่อยๆปรับตัวกันไป เมื่อเขาโมโห เราก็อย่าไปเติมเชื้อไฟด้วยการด่ากลับ ทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามลำดับ ฉันและลูกชายคนโตอายุ8ขวบที่ใครๆคิดว่าน่าจะกลัวพ่อเพราะภาพลักษณ์ภายนอกของพ่อดูดุ แต่เจ้าลูกชายไม่เคยกลัวพ่อสักนิด อีกทั้งยังรู้จังหวะเข้าหาพ่อ ออดอ้อนพ่ออีกต่างหาก และตอนนี้เราสองคนแม่ลูกก็สัมผัสได้ว่าพ่อโมโหน้อยลง และเมื่อโมโหก็จะหายเร็วมากๆ ไม่ข้ามวันข้ามคืนเหมือนเมื่อก่อน หรืออายุที่เพิ่มขึ้นอาจจะสอนอะไรคุณพ่อด้วยก็เป็นได้ ดังนั้น ฉันเชื่อว่าทุกครอบครัวที่มีความรักให้กันและกันไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราจะต้องค่อยๆหาวิธีปรับตัวกันไป. และเราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข ขอเพียงอย่าเอาครอบครัวของเราไปเปรียบกับครอบครัวของคนอื่น ความสุขในครอบครัวมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนในครอบครัวที่จะร่วมกันสร้าง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น